กัญชา ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์

หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้มีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรค เนื่องจากมีการวิจัย ถึงประโยชน์ และโทษในการใช้กัญชามากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเองได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุ ชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้สารสกัด THC ที่ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเฉพาะที่ได้รับการอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ และสารสกัดจากเมล็ดและพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดกัญชาสำหรับการใช้รักษาโรคได้รับการจัดให้เป็นผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนา จากสมุนไพร และไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในทางการแพทย์อีกต่อไป

ปรึกษา สอบถามรายละเอียด เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการรักษาได้ ที่ Time Wellness Clinic

กัญชา คือ อะไร

“กัญชา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cannabis sativa L. ภาษาจีนเรียกว่า (大麻ต้าหมา)(火麻ฮว่าหมา) ซึ่งมีสาร Canabinoids เป็นสารสำคัญที่อยู่ในกัญชา ที่ออกฤทธิ์หลักที่นำมาใช้ในทางการแพทย์คือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม นอนหลับง่าย และลดอาการตึงเครียดได้ และ Cannabidiol (CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด สามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบของแผล ลดความเจ็บปวดลง ลดอาการคลื่นไส้ ลดอาการชักเกร็ง อีกทั้งยังสามารถต่อต้านยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

กัญชา ในตำรับยาแพทย์แผนจีน

กัญชา ในทางการแพทย์จีนนั้นมักใช้ทั้งต้นและเมล็ด ซึ่งมีรสหวานสุขุม เป็นยาเย็น มีฤทธิ์เมาเบื่อ มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อธาตุและลำไส้ใหญ่ เมล็ด ใช้เป็นยาแก้ท้องผูก แก้กระหายน้ำ ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้หอบหืด ทำให้นอนหลับ แก้อักเสบ ระงับปวด แก้ประจำเดือนไม่ปกติแก้บิด ปวดท้อง ท้องร่วง แก้อาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งกัญชานั้นนำมาทำเป็นยาภายนอก ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ในทางแพทย์แผนจีนเรามักใช้เมล็ดกัญชาที่เรียกว่า 火麻仁 เข้าตำรับยาสมุนไพร ช่วยในเรื่องของผู้ที่มีภาวะลำไส้แห้งทำให้เกิดการท้องผูกบ่อยๆ หรือในผู้สูงอายุที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่มีพลังในการขับถ่าย การใช้เมล็ดกัญชาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดี โดยใช้เมล็ด ซึ่งมีน้ำมัน 30% ให้ใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ น้ำมันจากเมล็ดกัญชาจะเข้าไปช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น เช่น ในตำรับ 麻子仁丸 เป็นต้น

กัญชา ในตำรับยาแพทย์แผนไทย

กัญชาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแพทย์แผนไทยมากกว่า 200 ตำรับ สำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยในอดีต ไม่ได้ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว แต่จะปรุงในรูปแบบการนำกัญชาเข้าตำรับยา ซึ่งในแต่ละตำรับต้องมีสมุนไพรชนิดอื่นที่คุมฤทธิ์ของกัญชาด้วย แตกต่างจากการแพทย์แผนตะวันตก ที่จะใช้กัญชาในรูปแบบสารสกัด หรือสารสกัดจากกัญชาเท่านั้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างตำรับยาแพทย์แผนไทยที่มีกัญชาผสมอยู่ 16 ตำรับ ได้แก่

  1. ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร
  2. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ แก้อาการปวดบริเวณท้องน้อย ท้องน้อยแข็งเกร็งเวลาขยับแล้วปวด
  3. ยาทำลายพระสุเมรุ ช่วยฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคลมอัมพฤกษ์ อัมพาต
  4. ยาทัพยาธิคุณ บรรเทาอาการภาวะหลอดเลือดและเส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ ที่ทำให้มีอาการชาและปวดเมื่อย
  5. ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง แก้อาการของลมขึ้นเบื้องสูง คือ กลุ่มอาการปวดศีรษะ หน้ามืด มึนงง หูอื้อ ใจสั่น อ่อนเพลีย ที่มักจะเกิดจากการไหลเวียนเลือดและการทำงานของระบบประสาทที่แปรปรวน
  6. ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง แก้นอนไม่หลับ แก้ไข้ผอมเหลือง มีอาการตัวสั่น เสียงสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง
  7. ยาไพสาลี บรรเทาอาการไอ ลดเสมหะในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) คงที่
  8. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ช่วยรักษาหัวริดสีดวงทวารหนัก รักษาโรคผิวหนัง
  9. ยาแก้ลมแก้เส้น บรรเทาอาการปวดเมื่อยตึงล้ากล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น และข้อตามร่างกาย ลดอาการมือชาเท้าชา แขนขาอ่อนโรย อาการเมื่อยล้า ปวดตามเส้น
  10. ยาอไภยสาลี บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น
  11. ยาอัมฤตโอสถ บรรเทาอาการเรื้อรังจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ตึง เมื่อยล้ากล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ผอมแห้ง มือเท้าอ่อนแรง แขนขาอ่อนโรย
  12. ยาแก้โรคจิต ซึ่งโรคจิตในที่นี้ หมายถึง อาการทางจิตใจ และอาการของลมกองละเอียดพิการ ซึ่งมีอาการได้หลากหลาย เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ วิตกกังวล เป็นต้น แต่ไม่ใช่อาการทางจิตเวชทางการแพทย์แผนตะวันตก ช่วยลดความวิตกกังวล ลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  13. ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง บรรเทาอาการท้องผูก อาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย มือชาเท้าชา จุกเสียดท้อง แน่นหน้าอก อันเกิดจากโทสันฑฆาตและกล่อนแห้ง
  14. ยาอัคคินีวคณะ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ที่เกิดจากไฟย่อยอาหารผิดปกติ ทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้เกิดอาการผิดปกติ ได้แก่ คลื่นเหียนอาเจียน เบื่ออาหาร กินอาหารแล้วมีอาการลำไส้เคลื่อนไม่สะดวก ร้อนไม่สบายท้อง พะอืดพะอม จะเรอก็เรอไม่ออก จะผายลมก็ผายลมไม่ออก
  15. ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย ช่วยคลายอาการปวดตึงบริเวณปลายมือปลายเท้าตึงร้าวไปต้นคอ ทำให้คอแข็ง เคลื่อนไหวคอไม่สะดวก มักเกิดกับสตรีที่ตั้งครรภ์ (เริ่มเกิดเมื่อตั้งครรภ์แต่จะแสดงอาการเมื่อคลอดแล้ว) ที่มีอาการปวดตึง ต้นคอ แขน ขา ปลายมือ ปลายเท้า อาการปวดจากเส้นประสาทอักเสบ ปลอก
  16. ยาไฟอาวุธ บรรเทาอาการลมจุกเสียด ปวดมวนท้อง

กัญชา ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้ที่ใช้กัญชาในการรักษาโรคควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจมีผลข้างเคียงในการใช้กัญชาได้ คือ หลังจากการรับประทานยาที่มีกัญชาผสมอยู่อาจมีอาการง่วงซึม ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ไม่ควรทำงานกับเครื่องจักรกล หากมีอาการเวียนศีรษะ ร่างกายเสียความสมดุล หัวใจเต้นเร็วหรือช้าลง และความดันโลหิตผิดปกติ (อาจสูง/ต่ำกว่าปกติได้) ควรลดปริมาณการใช้ หรือในกรณีที่รับประทานยาที่มีกัญชามากเกินไป อาจเกิดอาการประสาทหลอน มีอาการชัก ตาลาย หรือกลายเป็นยาเสพติด แต่หากมีความผิดปกติ เช่น อาการสับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล รวมถึงหากใช้แล้วเกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้น หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวม ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ทันที

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสมอยู่

  1. หญิงกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับกัญชา มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด มารดาอาจมีความดันโลหิตสูงจนเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ ส่วนในหญิงให้นมบุตร ทำให้มีความเสี่ยงกับทารกที่ได้รับน้ำนมจากมารดา ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง หรือ ภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ
  2. ผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา หรือสารสกัดกัญชา
  3. โรคจิตเภท/โรคจิตจากสารเสพติด/โรคซึมเศร้า/โรคอารมณ์สองขั้ว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
  4. ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ไม่แนะนำให้ใช้กัญชา เพราะกัญชาออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ยิ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนล้ามากขึ้นหรืออาจทำให้มีภาวะบ้านหมุน แขนขาอ่อนแรงได้
  5. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากเด็กที่ได้รับกัญชามักมีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงซึม และมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหายใจ ไปจนถึงหมดสติเนื่องจากระบบทางเดินหายใจถูกกด
  6. ควรระวังในผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพราะตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาผสมอยู่ส่วนใหญ่มีรสร้อนถึงร้อนมากอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนท้องได้
  7. ควรระวังในผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าวอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาในการเสริมฤทธิ์ยากลุ่มดังกล่าว ผู้ป่วยอาจพบจ้ำเลือดตามผิวหนัง และมีความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก จะเพิ่มสูงขึ้น

การใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสมอยู่ หรือผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชา ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์แผนจีน หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ หรือตำรับยาที่ได้รับ การรับรองด้านคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ทั้งนี้ Time Wellness Clinic มีให้บริการตำรับยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกัญชา สำหรับผู้ที่มีภาวะการนอนหลับยาก เช่น ตำรับยาศุขไสยาศน์ สำหรับผู้ที่มีภาวะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดตึงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีภาวะมือเท้าชา เช่น ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น และเรายังมีบริการนวดอโรม่าโดยใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของกัญชาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบจากการใช้งานซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

ติดต่อเราวันนี้

ติดต่อสอบถามราคาค่ารักษาหรือขอคำปรึกษาฟรีวันนี้